ความเป็นมา

ความตกลงด้านอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region) ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมขององค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ครั้งที่ 23 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2498 (ค.ศ. 1955) และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมพ.ศ.2499 (ค.ศ.1956) ความตกลงฯนี้ เป็นสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (24 ประเทศ) เพื่อสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาดของศัตรูพืชจากภูมิภาคอื่น เช่น โรค South American Leaf Blight ในยางพาราของประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอารักาพืชระหว่างประเทศภาคีสมาชิกด้วยกัน

FAO ให้การสนับสนุนงบประมาณและการบริหารจัดการความตกลงฯนี้ผ่านคณะกรรมาธิการอารักขาพืชเอเชียและแปซิฟิก (Asia and Pacific Plant Protection Commission ; APPPC) ความตกลงฯนี้มีการปรับปรุงมาแล้ว 4 ครั้ง คือ พ.ศ.2510 (ค.ศ.1967) พ.ศ.2522 (ค.ศ.1979) พ.ศ.2526 (ค.ศ.1983) และ พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999)

ที่ประชุม FAO ครั้งที่ 84 ในเดือนกันยายนปี 1983 ให้ความเห็นชอบปรับปรุงความตกลงด้านอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกฉบับปี 1999 2 ประเด็น ประเด็นแรกให้รวมสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้ในภูมิภาค ประเด็นที่สองให้มีบทบังคับเรื่องการจ่ายเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิก ทั้งนี้ความตกลงฯฉบับ ค.ศ. 1983 มีผลบังคับใช้เมื่อ 4 กันยายน 2552 (ค.ศ.2009)

ที่ประชุม FAO ครั้งที่ 117 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2542 (1999) ให้ความเห็นชอบปรับปรุงความตกลงด้านอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกฉบับปี 1999 เพิ่มอีก 2 ประเด็น ประเด็นแรกให้ปรับปรุงสาระของความตกลงให้สอดคล้องกับอนุสัญญา IPPC ความตกลงด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ประเด็นที่สองให้ตัดภาคผนวกของความตกลงฯ เรื่อง มาตรการของภูมิภาคในการกันโรค South American Leaf Blight ในยางพาราออก เพราะบางประเทศสมาชิกไม่มีปารปลูกยางพาราเห็นว่าภาคผนวกนี้เป็นเรื่องเฉพาะของบางประเทศที่มีการปลูกยางพารา จึงไม่ควรนำมารวมในความตกลงฯมีผลให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของความตกลงฯต้องถือปฏิบัติ ความตกลงฯฉบับ ค.ศ. 1999 ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะจำนวนประเทศสมาชิกลงนามยอมรับไม่ถึงสองในสาม

ในพ.ศ.2550 สำนักงานระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO-Regional Office for Asia and Pacific) ของ FAO ได้ขอความร่วมมือมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาดำเนินการให้ประเทศไทยให้การยอมรับความตกลงอารักขาพืชสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกฉบับแก้ไขปี 1983 เนื่องจากขณะนั้น ความตกลงฯ ดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ได้ เพราะจำนวนประเทศสมาชิกยังไม่ครบ 2 ใน 3 คือ 16 ประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะจุดประสานงาน APPPC ดำเนินการเสนอเรื่องการยอมรับความตกลงฯนี้ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยสรุปประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการให้การยอมรับ The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region ฉบับแก้ไขปี 1983 ดังนี้

  1. ความร่วมมือกับประเทศภาคีในภูมิภาคในการป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาดของศัตรูพืชจากภูมิภาคอื่น และระหว่างประเทศภาคีด้วยกัน
  2. ความร่วมมือระหว่างประเทศภาคีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล
  3. การให้ความร่วมมือด้านวิชาการในการจัดฝึกอบรมร่วมกันระหว่างประเทศภาคี
  4. ความร่วมมือป้องกัน โรค South American Leaf Blight ในยางพารา ระดับภูมิภาค
  5. สามารถออกความเห็นเพื่อโน้มน้าวการประชุมในฐานะที่เป็น 1 ใน 16 ประเทศที่ให้การยอมรับ

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การยอมรับความตกลง The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region ปี 1983 ซึ่ง มกอช. ได้ดำเนินการส่งเอกสาร Instrument of Acceptance แจ้งการยอมรับความตกลงฯ ต่อ FAO เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 และได้รับการแจ้งตอบการเป็นประเทศสมาชิกของความตกลง The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region ปี 1983 จาก FAO เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 ทั้งนี้ มกอช.ได้ขอตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อจ่ายเงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย APPPC ตามอัตราที่กำหนดของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยจะจ่ายในอัตรา 3.05% คิดเป็นเงินประมาณ 5,891 US$

คณะกรรมาธิการอารักขาพืชเอเชียและแปซิฟิก (Asia and Pacific Plant Protection Commission, APPPC) เป็นคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารจัดการการปฏิบัติงานของประเทศสมาชิก 24 ประเทศให้สอดคล้องกับความตกลง The Plant Protection Agreement for Asia and Pacific Region โดยใช้ระเบียบการบริหารจัดการและเงินสนับสนุนประจำปีจาก FAO มีการประชุมทุก 2 ปี โดยประเทศสมาชิกจะเสนอผลัดเปลี่ยนกันในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม การประชุมเมื่อ พ.ศ.2558 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นการประชุมครั้งที่ 29 ประเด็นสำคัญของการประชุม APPPC 3 ประเด็น ได้แก่ การป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชจากภูมิภาคอื่น (Plant Quarantine) การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช (Pesticide) และการใช้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management) นอกจากนี้ APPPC จัดเป็นองค์กรอารักขาพืชระดับภูมิภาค (Regional Plant Protection Organization, RPPO) ภายใต้อนุสัญญา IPPC